โพสต์ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2017 / อัปเดตในเดือนสิงหาคม 2023

เมื่ออายุมากขึ้น ผิวพรรณมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เมื่อเราอายุมากขึ้น ความเสียหายสะสมและการสูญเสียองค์ประกอบเนื้อเยื่อเกี่ยวพันส่งผลให้ผิวเกิดความเปลี่ยนแปลง

ผิวมักถูกทำร้ายจากการเผชิญองค์ประกอบภายนอก เช่น แสงแดด ลม และมลพิษ รวมถึงการสัมผัสโมเลกุลทำปฏิกิริยาสูงที่เรียกว่า อนุมูลอิสระ โดยมีบางส่วนที่ผลิตขึ้นในร่างกายและบริโภคเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารหรือสิ่งแวดล้อม

อายุที่มากขึ้นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดริ้วรอยอีกด้วย สารระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue matrix) ที่อยู่ใต้ผิวชั้นบนสูญเสียไปพร้อมกับอายุที่มากขึ้น สารระหว่างเซลล์นี้มีหน้าที่ในการรักษาโครงสร้างเนื้อเยื่อและอุ้มน้ำ โดยส่วนใหญ่ประกอบด้วยคอลลาเจน อิลาสติน และกรดไฮยาลูโรนิก

เหตุผลที่สำคัญที่สุดของการสูญเสียสารระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันเมื่ออายุมากขึ้นคือ กิจกรรมของไฟโบรบลาสต์ลดลง ซึ่งไฟโบรบลาสต์เป็นเซลล์ที่มีหน้าที่ผลิตคอลลาเจน อิลาสติน และกรดไฮยาลูรอนิก แม้ว่าคอลลาเจนจะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้ผิวหนังดูแก่ชราและเหี่ยวย่นนั้นเกิดจากความเข้มข้นของกรดไฮยาลูโรนิกที่ลดลง

เมื่ออายุ 70 ปี คนส่วนใหญ่จะสูญเสียกรดไฮยาลูโรนิกในผิวหนังไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ กรดไฮยาลูโรนิกช่วยให้โมเลกุลของสารระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน "เกี่ยวแขนกัน" และสร้างโครงสร้างที่เหนียวแน่น เมื่อเส้นใยคอลลาเจนสูญเสียปริมาณกรดไฮยาลูโรนิกไป เส้นใยคอลลาเจนก็จะมีจำนวนน้อยลงและห่างกันออกไปเรื่อยๆ กรดไฮยาลูโรนิกยังเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาปริมาณน้ำในผิวหนังไว้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือผิวจะบางลง เหี่ยวย่น และเกิดริ้วรอยเมื่อขาดส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เพียงพอ โดยเฉพาะกรดไฮยาลูโรนิก

ความสำคัญของสารอาหารที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพผิวที่ดี

การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระเป็นส่วนสำคัญในการรักษาผิวพรรณที่สุขภาพดี คุณควรใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการหลีกเลี่ยงการสัมผัสอนุมูลอิสระ (การตากแดดมากเกินไป การสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ เป็นต้น)

โภชนาการที่ดีที่สุดเพื่อผิวที่แข็งแรงคืออาหารเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งได้รับการศึกษามาอย่างชัดเจนและสัมพันธ์กับประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้:

  • มุ่งเน้นไปที่อาหารจากพืชที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งผลไม้ ผัก ขนมปัง พาสต้า มันฝรั่ง ถั่วที่เป็นเมล็ดผัก ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดพืช
  • บริโภคปลาเป็นประจำ
  • บริโภคเนื้อแดงในปริมาณน้อยและไม่บ่อยนัก
  • น้ำมันมะกอกเป็นแหล่งไขมันหลัก

มะกอกและน้ำมันมะกอกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของอาหารเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อสุขภาพผิว การศึกษาตามประชากรแสดงให้เห็นว่าการบริโภคมะกอกในปริมาณที่มากขึ้นและน้ำมันมะกอกนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดริ้วรอยน้อยลง

นอกจากไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวแล้ว มะกอกและน้ำมันมะกอกยังมีสารประกอบฟลาโวนอยด์ที่ป้องกันความเสียหายจากอนุมูลอิสระต่อผิวหนังซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดริ้วรอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปกป้องผิวจากสัญญาณความเสียหายอื่นๆ

ในอาหารเอเชียดั้งเดิมก็ยังมีชาเขียวและโพลีฟีนอลตัวสำคัญในชาเขียวที่ชื่อว่า อีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต (EGCG) ชาเขียวและสารสกัดชาเขียวยังแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการปกป้องผิวไม่ให้เสียหายจากอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเล็ต

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ดีที่สุดสำหรับผิว

1. วิตามินรวมช่วยเติมเต็มสารอาหารที่ไม่ครบถ้วน

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสูตรวิตามินและแร่ธาตุรวมยังเป็นกุญแจสำคัญสู่สุขภาพผิวที่แข็งแรงและส่งเสริมการผลิตคอลลาเจน วิตามินและแร่ธาตุจำเป็นเป็นส่วนจำเป็นของกลไกในไฟโบรบลาสต์ในการผลิตคอลลาเจน ในแต่ละวัน คุณผลัดเซลล์ผิวหลายล้านเซลล์ ในขณะที่เซลล์ผิวลอกออกไป เซลล์ใหม่ก็จะขยับขึ้นมาแทนที่ ดังนั้นการมีสารอาหารจำเป็นอย่างครบถ้วนเพื่อให้เซลล์ผิวขึ้นรูปได้อย่างถูกต้องก็มีส่วนช่วยเช่นกัน

สารอาหารสำคัญชนิดหนึ่งที่ต้องดูให้แน่ใจว่าวิตามินรวมของคุณมีอยู่คือซิงค์ เพราะเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อเซลล์ผิวและการผลิตคอลลาเจน

2. ฟลาโวนอยด์สนับสนุนระดับคอลลาเจน

ฟลาโวนอยด์จากพืชยังมีความสำคัญในการสนับสนุนระดับคอลลาเจนที่สุขภาพดี โดยทั่วไป ฟลาโวนอยด์สร้างกิจกรรมต้านอนุมูลอิสระที่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพต่อกรกับสารออกซิแดนต์มากมาย

ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการปกป้องโครงสร้างคอลลาเจนจากความเสียหาย เม็ดสีสีน้ำเงินหรือสีม่วงมีประโยชน์เป็นพิเศษต่อโครงสร้างคอลลาเจน โดยเฉพาะแอนโทไซยานินและ PCO (ย่อมาจากโปรแอนโธไซยานิดิน โอลิโกเมอร์) ซึ่งพบในองุ่น บลูเบอร์รี่ ถั่วแดงหลวง และอาหารอื่นๆ อีกมากมาย

ฟลาโวนอยด์เหล่านี้สามารถพบได้ในสารสกัดจากเปลือกสนและสารสกัดจากเมล็ดองุ่นอีกด้วย แหล่ง PCO สองชนิดนี้มีงานวิจัยและการศึกษาทางคลินิกที่มากเพียงพอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในการปกป้องและดูแลผิวเมื่ออายุมากขึ้น แอนโทไซยานิน, PCO และฟลาโวนอยด์อื่นๆ ส่งผลต่อการเผาผลาญพลังงานของคอลลาเจนในหลายๆ ด้าน:

  • สารเหล่านี้มีความสามารถพิเศษในการเกี่ยวโยงเส้นใยคอลลาเจน โดยส่งเสริมการเกี่ยวโยงตามธรรมชาติของคอลลาเจน
  • สารเหล่านี้ปกป้องความเสียหายจากอนุมูลอิสระด้วยคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพ
  • สารเหล่านี้ยับยั้งการทำลายโครงสร้างคอลลาเจนเนื่องจากการอักเสบ
  • สารเหล่านี้ช่วยส่งเสริมกิจกรรมไฟโบรบลาสต์ให้ดีขึ้นในผิวของผู้ที่อายุมาก

3. MSM ส่งเสริมความแข็งแรงของผิว

ซัลเฟอร์ยังเป็นสารอาหารจำเป็นสำหรับผิวด้วย เพราะทำให้คอลลาเจนและส่วนประกอบสารระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันอื่นๆ มีเสถียรภาพ MSM (เมทิลซัลโฟนิล) เป็นซัลเฟอร์รูปแบบสำคัญในร่างกายมนุษย์ และซัลเฟอร์ที่มีกรดอะมิโนเมไทโอนีนและซิสเตอีนยังมีบทบาทสำคัญอีกด้วย

ยกตัวอย่าง ประมาณหนึ่งในสี่ของคอลลาเจนของคุณประกอบขึ้นจากซิสเตอีน (ซิสเตอีนมีอะตอมซัลเฟอร์) ซึ่งสร้างพันธะเหนียวแน่นเป็นพิเศษกับคอลลาเจนและโปรตีนเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอื่นๆ ซัลเฟอร์ช่วยเรื่องความแข็งแรงและศักยภาพในการประสานกับน้ำของคอลลาเจน ซึ่งสำคัญต่อการทำให้ผิวยังคงอิ่มฟูและเรียบเนียน รับประทาน MSM 1,000 มก. ทุกวันเพื่อให้แน่ใจว่าได้รับซัลเฟอร์ในระดับที่เหมาะสม

4. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจนมีประโยชน์ต่อผิวพรรณ

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจนนั้นได้มาจากแหล่งต่างๆ รวมถึงผิวหนัง กระดูก และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของวัว ไก่ หมู และปลา เมื่อคอลลาเจนถูกทำให้เสียสภาพด้วยความร้อน คอลลาเจนจะสร้างเจลาติน ซึ่งใช้เป็นแหล่งอาหารและยาแผนโบราณมานานหลายศตวรรษ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เจลาตินเป็นแหล่งของคอลลาเจนเปปไทด์ มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าเจลาตินให้ประโยชน์ที่เหมือนกับคอลลาเจนเปปไทด์ การผลิตไฮโดรไลซ์คอลลาเจนหรือคอลลาเจนเปปไทด์คือการแตกย่อยแหล่งคอลลาเจนให้มากกว่าเจลาติน ข้อดีก็คือคอลลาเจนเปปไทด์ละลายน้ำได้ดีกว่าและไม่มีคุณสมบัติจับตัวเป็นวุ้น ช่วยให้นำไปคิดค้นเป็นส่วนผสมแบบผงและผสมในเครื่องดื่มร้อนและเย็นได้

เจลาตินและคอลลาเจนเปปไทด์ให้กรดอะมิโนที่มีคุณค่าแก่ผิว เส้นผม ข้อต่อ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจนเปปไทด์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยรักษาความยืดหยุ่นและความชุ่มชื้นของผิว ซึ่งอาจช่วยลดการเกิดริ้วรอยของผิวและทำให้ริ้วรอยเล็กๆ เรียบเนียนขึ้น โดยเฉพาะหากรับประทานมากกว่า 6 เดือน

5. ซิลิกาเป็นประโยชน์ต่อการผลิตคอลลาเจนและอิลาสติน 

นอกจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจน ผู้เขียนขอแนะนำให้ใช้สารปลุกฤทธิ์ไฟโบรบลาสต์ด้วย ในร่างกาย โรงงานคอลลาเจนในผิวคือไฟโบรบลาสต์ หนึ่งในแนวทางที่น่าตื่นเต้นที่สุดและมีการจดบันทึกชัดเจนในการเพิ่มการผลิตคอลลาเจนคือการใช้รูปแบบที่มีชีวปริมาณออกฤทธิ์สูงของซิลิกา (กรดออร์โธซิลิซิกที่ทำให้เสถียรด้วยโคลีนหรือ BioSil®) แรกเริ่ม การวิจัยมุ่งเน้นที่ความสามารถของ Biosil ในการเพิ่มระดับไฮดรอกซีโพรลีน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนสำคัญที่จำเป็นในการผลิตคอลลาเจนและอิลาสติน

การศึกษาทางคลินิกกับกรดออร์โธซิลิซิกที่ทำให้เสถียรด้วยโคลีนแสดงให้เห็นผลที่น่าประทับใจในผู้หญิง (อายุ 40 ถึง 65 ปี) ที่ผิวมีริ้วรอยจากการทำร้ายของแสงแดดและมีผิวที่ดูแก่กว่าวัย ผู้ที่ได้รับ Biosil 10 มก.ต่อวันพบว่าริ้วรอยตื้นดีขึ้น 30% และความยืดหยุ่นของผิวเพิ่มขึ้น 55% นอกจากนี้เล็บและเส้นผมยังเปราะน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย

6. กรดไฮยาลูโรนิกเป็นประโยชน์ต่อความชุ่มชื้นของผิว

กรดไฮยาลูโรนิกมีบทบาทสำคัญในสารระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันของผิว เมื่อผิวถูกอนุมูลอิสระทำร้าย ผิวจะอักเสบ และเซลล์ผิวเริ่มผลิตกรดไฮยาลูโรนิกลดลงเรื่อยๆ กระบวนการนี้เองที่ก่อให้เกิดริ้วรอย ดังที่กล่าวถึงไปแล้วก่อนหน้านี้ ปริมาณกรดไฮยาลูโรนิกของผิวยังลดลงตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น

ในคลินิกเสริมความงามมีการฉีดกรดไฮยาลูโรนิกเพื่อเติมเต็มริ้วรอย อย่างไรก็ดี การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกรดไฮยาลูโรนิกอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง ข้อดีอย่างหนึ่งคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกรดไฮยาลูโรนิกอาจให้ผลที่อยู่ยาวนานกว่าการฉีด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกรดไฮยาลูโรนิกเป็นธรรมชาติมากกว่าและเป็นวิธีการรุกล้ำร่างกายน้อยกว่าในการเติมส่วนประกอบสำคัญนี้ให้แก่ผิว

การศึกษาทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไฮยาลูโรนิกเพิ่มปริมาณความชุ่มชื้นของผิวได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งช่วยให้ผิวที่แห้งและกระด้างดูดีขึ้นอย่างมาก ขนาดที่ใช้ในการทดลองทางคลินิกคือ 120 มก. ทุกวัน โดยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 4 ถึง 6 ของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

อ้างอิง:

  1. Purba MB, Kouris Blazos A, Wattanapenpaiboon N, et al. Skin wrinkling: can food make a difference?" J Am Coll Nutr 2001;20:71-80.
  2. Lecci RM, D'Antuono I, Cardinali A, Garbetta A, Linsalata V, Logrieco AF, Leone A. Antioxidant and Pro-Oxidant Capacities as Mechanisms of Photoprotection of Olive Polyphenols on UVA-Damaged Human Keratinocytes. Molecules. 2021 Apr 8;26(8):2153.
  3. Yusuf N, Irby C, Katiyar SK, Elmets CA. Photoprotective effects of green tea polyphenols. Photodermatol Photoimmunol Photomed. 2007 Feb;23(1):48-56.
  4. Farjadmand F, Karimpour-Razkenari E, Nabavi SM, et al. Plant Polyphenols: Natural and Potent UV-Protective Agents for the Prevention and Treatment of Skin Disorders. Mini Rev Med Chem. 2021;21(5):576-585.
  5. Lee JH, Park J, Shin DW. The Molecular Mechanism of Polyphenols with Anti-Aging Activity in Aged Human Dermal Fibroblasts. Molecules. 2022 Jul 7;27(14):4351. 
  6. Pérez-Sánchez A, Barrajón-Catalán E, Herranz-López M, Micol V. Nutraceuticals for Skin Care: A Comprehensive Review of Human Clinical Studies. Nutrients. 2018 Mar 24;10(4):403. 
  7. Kim DU, Chung HC, Choi J, Sakai Y, Lee BY. Oral Intake of Low-Molecular-Weight Collagen Peptide Improves Hydration, Elasticity, and Wrinkling in Human Skin: A Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Study. Nutrients. 2018 Jun 26;10(7):826.
  8. Evans M, Lewis ED, Zakaria N, Pelipyagina T, Guthrie N. A randomized, triple-blind, placebo-controlled, parallel study to evaluate the efficacy of a freshwater marine collagen on skin wrinkles and elasticity. J Cosmet Dermatol. 2021 Mar;20(3):825-834.
  9. Inoue, N., Sugihara, F. and Wang, X. Ingestion of bioactive collagen hydrolysates enhance facial skin moisture and elasticity and reduce facial ageing signs in a randomised double-blind placebo-controlled clinical study. J. Sci. Food Agric. 2016;96: 4077–4081.
  10. Barel A, Calomme M, Timchenko A, et al. Effect of oral intake of choline-stabilized orthosilicic acid on skin, nails and hair in women with photodamaged skin. Arch Dermatol Res. 2005;297(4):147-153.
  11. Michelotti A, Cestone E, De Ponti I, et al. Oral intake of a new full-spectrum hyaluronan improves skin profilometry and ageing: a randomized, double-blind, placebo-controlled clinical trial. Eur J Dermatol. 2021 Dec 1;31(6):798-805. 
  12. Sato T, Sakamoto W, Odanaka W, Yoshida K, Urushibata O. Clinical effects of hyaluronic acid diet for dry and rough skin. Aesthetic Dermatol 2002;12:109-20.